top of page
รูปภาพนักเขียนCake Premmika

สิว (Acne)



สิวเกิดจากอะไร …..


สิวเกิดจากการอุดตันที่รูขุมขนบริเวณผิวหนัง  ปัจจัยหลัก ๆ ในการเกิดสิวคือ ร่างกายของเราผลิตน้ำมันจากต่อมไขมันมากเกินไป บริเวณชั้นผิวหนังมีต่อมไขมันขนาดเล็กจะแทรกตัวอยู่กับรูขุมขนใต้ชั้นผิวหนัง โดยต่อมไขมันซึ่งเรียกว่า “ซีบัม” จะคอยสร้างสารไขมัน เพื่อหล่อลื่นขนและเส้นผม  และความชุ่มชื้นให้กับเซลล์ผิวจนเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วไปอุดตันรูขุมขน  และการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นสิวนั่นเอง  


สิวมีกี่ประเภท


1. สิวหัวขาว Whitehead


สิวอุดตันหัวปิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูน สิวยังไม่มีรูเปิด จึงทำให้ดันผิวจนนูนขึ้นมา เมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกเหมือนมีไตก้อนเล็ก ๆ บีบออกยาก เพราะรากสิวลึก สิวประเภทนี้เมื่อปล่อยไว้นานจะขยายขนาดขึ้น และมีโอกาสกลายเป็นสิวอักเสบชนิดต่าง ๆ ได้สูง


2. สิวหัวดำ Blackheads


สิวอุดตันหัวเปิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูน เม็ดเล็ก ๆ มีรูเปิดออกจนเห็นหัวสิวและมีจุดสีดำอยู่บริเวณตรงกลาง จุดสีดำนี่แหละค่ะที่เกิดจากน้ำมัน ทำปฏิกิริยา oxidation กับออกซิเจนในอากาศ เปลี่ยนไขมันเป็นสีดำ


3. สิวเสี้ยน/สิวอุดตัน Comedone 


เกิดจากความผิดปกติของรูขุมขน ทำให้เกิดสิวที่มีลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำเพียงแต่ สิวเสี้ยน นั้นจะมีกระจุกขนเล็ก ๆ หลายเส้นแทรกอยู่ในหัวสิวอุดตัน จึงทำให้มีลักษณะเป็นจุดดำเล็ก ๆ หรือมีหนามแหลมยื่นออกมาทางรูขุมขนจำนวนมาก ซึ่งพบได้มากและสังเกตเห็นได้ง่ายบริเวณปลายจมูก คาง ข้างแก้ม และหน้าผาก


4. สิวอักเสบแดงเป็นก้อน Nodular Acne 


เป็นสิวอักเสบชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นตุ่มสีแดงขนาดใหญ่ (ขนาดเกิน 0.5 ซม.) อยู่ใต้ผิวหนัง จับดูจะรู้สึกเป็นไตแข็ง ๆ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ แบคทีเรียและน้ำมันในตุ่มสิวแตกกระจายอยู่ใต้ผิวหนัง สิวจะอักเสบนานหลายวัน เมื่อหายอาจเกิดแผลเป็นได้


5. สิวชนิดตุ่มนูนแดง Papule 


สิวอักเสบชนิดถัดมา คือสิวตุ่มแดง เป็นตุ่มแดงเจ็บ ขนาดเล็ก (ไม่เกิน 0.5 ซม.) ส่วนมากสิวชนิดนี้เป็นสิวอักเสบในระยะแรกที่พัฒนามาจากสิวอุดตัน ขนาดจะเล็กกว่าสิวแบบ Nodular Acne และไม่มีอาการเจ็บเท่าไหร่


6. สิวหัวหนอง Pustule 


เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงและปวด ข้างบนตุ่มมีหัวหนองสีเหลืองเป็นสิวที่มีอาการอักเสบมากกว่าสิวอักเสบชนิด Papule หรืออาจเกิดจากสิวที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นแทรกซ้อน


7. สิวหัวช้าง Acne Conglobata 


เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง มักเป็นในวัยรุ่นที่มีผิวหน้ามันมาก บางรายมีประวัติคนในครอบครัวเป็นสิวหัวช้างด้วยสิวหัวช้างมีลักษณะเป็นสิวอักเสบรุนแรงทุกชนิดขึ้นรวมกันหนาแน่น 



ปัจจัยกระตุ้นการเกิดสิว


  • อาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง

  • พันธุกรรม

  • ความเครียด

  • นอนไม่เพียงพอ

  • ฮอร์โมน

  • ประจำเดือน

  • เครื่องสำอาง

  • สุขภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า

  • เหงื่อไคล

  • ฝุ่น มลภาวะ

  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด


การดูแลรักษา


เป้าหมายในการรักษาสิวคือ การช่วยให้สิวยุบตัวลงโดยเร็ว หยุดการเกิดสิวใหม่ และป้องกันการเกิดแผลเป็น โดยแพทย์จะเป็นผู้จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึง อายุ ชนิดของสิว และระดับความรุนแรง


ยาทาเฉพาะที่ หรือ ยารักษาสิวชนิดใช้ภายนอก (Topical medications)


  • ยาปฏิชีวนะชนิดทา (Topical antibiotics) โดยใช้ร่วมกับยาทาเฉพาะที่ชนิดอื่น เพื่อยับยั้งแบคทีเรีย และลดการผลิตน้ำมัน

  • ยาทาเรตินอยด์ (Retinoids) ที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์วิตามิน A เพื่อรักษาสิวและรอยโรคที่อาจทำให้เกิดสิวซ้ำ และช่วยลดเลือนริ้วรอยจากแผลเป็น

  • กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสลายสิวหัวดำและสิวหัวขาว และยังช่วยลดการผลัดเซลล์ผิวในรูขุมขน

  • ซัลเฟอร์ (Sulfur) หรือกำมะถัน มีประสิทธิภาพช่วยสลายสิวหัวดำ และสิวหัวขาว


ยารักษาสิวชนิดรับประทาน (Oral medications)


  • ยาปฏิชีวนะ (Oral Antibiotics) ที่ช่วยชะลอ หรือหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและลดการอักเสบ โดยแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมกับชนิดที่ใช้ทาภายนอกสำหรับสิวที่มีระดับความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก เช่น สิวอักเสบชนิดรุนแรง หรือสิวเรื้อรัง

  • ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral contraceptives) ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว

  • ฮอร์โมนต้านฤทธิ์แอนโดรเจน (Anti-androgen agents) เป็นยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนสำหรับผู้หญิง มีคุณสมบัติช่วยลดผลกระทบของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง

  • เรตินอยด์ (Retinoids) หรือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามิน A แบบรับประทาน ช่วยรักษาสิว และช่วยลดเลือนแผลเป็นจากสิว


การรักษาสิวด้วยการบำบัด (Acne therapies) 


ในผู้ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่และ/หรือยารักษาสิวชนิดรับประทาน แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการอื่น ๆ ในการรักษา เช่น


  • การบำบัดด้วยแสง (Light therapy) เป็นการฉายแสง LED ความเข้มสูงช่วยกระตุ้นกลไกการฟื้นฟูของเซลล์ผิว และช่วยลดเลือนริ้วรอย

  • การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical peeling) เป็นการบำบัดด้วยสารเคมีเพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกเพื่อสร้างเซลล์ผิวใหม่ อาทิเช่น AHA BHA  ช่วยในการทำให้หัวสิวแห้ง และผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้วออกไป และลดโอกาสการเกิดการอุดตันของผิว 

  • การกดสิว (Comedone extraction) แพทย์อาจพิจารณาการรักษาสิวโดยการกดสิวทั้งสิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวซีสต์ที่รักษาไม่หายด้วยการทายาเฉพาะที่เพื่อช่วยด้านภาพลักษณ์และบุคลิกภาพของผู้รับการรักษา อย่างไรก็ตามการกดสิวอาจทำให้เกิดแผลเป็น และอาจต้องมีการบำบัดสภาพผิวเพิ่มเติม

  • ยาฉีดสเตียรอยด์ (Steroid injection) แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฉีดสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบของสิวอักเสบชนิดรุนแรง โดยฉีดตรงไปที่ผิวหนังบริเวณสิวอักเสบเพื่อช่วยให้สิวยุบตัวเร็วและลดความเจ็บปวด โดยอาจมีผลข้างเคียงคือทำให้ผิวบาง และสีผิวบริเวณที่ฉีดเข้มขึ้น



การป้องกันการเกิดสิว


  • ล้างหน้าเป็นประจำ และล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว 

  • ทาครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยน

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์/เครื่องสำอางที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหน้า 

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือไขมันสูง

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน

  • ไม่ใช้มือที่ไม่ได้ทำความสะอาดสัมผัสโดยตรงที่ใบหน้า

  • ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และไม่เครียด

  • ทานยาคุมกำเนิด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน



พญ. ทิพย์ทิวา นนทมา







ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

COVID-19

Comments


bottom of page