top of page
รูปภาพนักเขียนCake Premmika

ฝี (Abscess)



ฝี (abscess) คือ เนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ประกอบด้วยหนองและเซลล์ที่ตายแล้วที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ จนก่อให้เกิดลักษณะเป็นก้อนภายในเป็นโพรงตุ่มหนองหรือถุงหนองการอักเสบลึกลงไปจนถึงชั้นdermisและชั้นไขมัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน มีขนาดต่างกันตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่

อาการของฝีโดยทั่วไป คือ มีตุ่มหนองอักเสบบวม เจ็บปวดและแสบร้อนเมื่อสัมผัสโดน รู้สึกไม่สบายตัว และอาจมีไข้สูงหรือหนาวสั่นร่วมด้วย หากเป็นฝีที่ผิวหนังภายนอกที่มีขนาดเล็กและไม่มีการเจ็บป่วยรุนแรง อาการอาจดีขึ้นและหายได้เอง หรืออาจจะต้องเจาะหรือกรีดระบาย แต่หากเป็นฝีที่อวัยวะภายในจะค่อนข้างเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยการประเมินของแพทย์ผู้รักษา


ฝี แบ่งเป็น 2 ประเภทตามบริเวณที่เกิด ได้แก่

  • ฝีที่ผิวหนัง เป็นฝีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง โดยมักเกิดขึ้นบริเวณรากผม ขน หรือต่อมไขมันที่เกิดการติดเชื้อโดยอาจจะพัฒนาจนเกิดฝี เช่น ฝีข้าวสุก ฝีฟักบัว เป็นต้น มีอาการ คือ ฝีเกิดการอักเสบบวมแดง เจ็บปวด รู้สึกแสบร้อน อาจมีหนองซึมออกมาในบางราย

  • ฝีที่อวัยวะภายใน เป็นฝีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณอวัยวะภายในหรือในบริเวณที่ว่างระหว่างอวัยวะภายในร่างกาย อาการแสดงขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดฝี เช่น มีอาการปวดลึกๆบริเวณนั้นหรือปวดรอบๆบริเวณนั้น มีไข้ไม่ทราบสาเหตุ บ่งชี้ว่าอาจมีอาการติดเชื้อภายในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งต้องรีบหาสาเหตุและรักษาเพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


ซึ่งในบทความนี้จะเจาะเฉพาะฝีที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของรูขุมขนและต่อมไขมันชนิดต่างๆค่ะ


ตุ่มฝีที่เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน 1 รู และเนื้อเยื่อโดยรอบ เรียกว่า "Furuncles" หรือ ฝีข้าวสุก  แต่ถ้าขึ้นหลายหัวติดๆ กัน เกิดจากการอักเสบของรูขมขนหลายรูพร้อมๆกัน เรียกว่า "Carbuncles" หรือ ฝีฝักบัว ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณที่มีการเสียดสีและมีเหงื่อออกมาก เช่น ใบหน้า คอ ไหล่ แผ่นหลัง รักแร้ ก้น เป็นต้น


สาเหตุการเกิดฝี


  • ผู้ที่ต่อมไขมันผลิตมากเกินไป 

  • ผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย

  • ผู้ที่โกน แวกซ์ขน หรือมีบาดแผลตามผิวหนัง

  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ เพราะโรคผิวหนังอย่างสิวหรือผื่นผิวหนังอักเสบอาจทำให้ผิวบอบบางหรือเกราะปกป้องผิวถูกทำลาย จึงทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคตับ

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือบกพร่อง


การรักษา


  1. ใช้น้ำอุ่นประคบ

  2. ให้ยาปฏิชีวนะ Cloxacillin 50 มก./กก./วัน ในผู้ป่วยที่แพ้ยา cloxacillinให้ erythromycin

    30-50 มก./กก./วัน หรือ clindamycin 20-45 มก./กก./วัน  หากเชื้อมีการดื้อยาหรือไม่ตอบสนองต่อยาปฎิชีวนะต้องเปลี่ยนยาที่มีสเปคตรัมครอบคลุมเชื้อได้มากขึ้น เช่น Augmenting

    30-50 มก./กก./วัน 

  3. เมื่อฝีมีขนาดใหญ่ขึ้นเกินกว่า 4 ซม. หรือ ไม่ตอบสนองต่อยาปฎิชีวนะ จะต้องผ่าระบายหนองออก ล้างโพรงภายในด้วยน้ำเกลือจนกว่าจะสะอาด และทำแผลด้วยวิธีการ wet dressing with gauze drain คือการใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือบิดหมาดยัดไว้ที่โพรง เพื่อดูดซับและระบายเลือดและหนอง  อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง/วัน ร่วมกับการฉีดหรือรับประทานยาปฎิชีวนะ

  4. ทำแผลที่โรงพยาบาล คลินิก หรืออนามัยใกล้บ้านทุกวัน จนแผลตื้นและปิดไปเอง งดสัมผัสน้ำบริเวณแผล


 ภาวะแทรกซ้อนจากฝี


มีภาวะแทรกซ้อนบางประการ อาจมีอาการไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรง ดังนี้


  • แผลเป็น ผู้ป่วยที่เป็นฝีฝักบัวอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผล เมื่อโดนเกา หรือฝีแตก

  • เชื้อดื้อยา เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัสออเรียสบางตัวอาจทนต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเมธิซิลินได้

    ทำให้รักษาได้ยากกว่าปกติ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ใต้ชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ผิวหนังบวมแดง เกิดความเจ็บปวด สัมผัสแล้วรู้สึกร้อน ผู้ป่วยอาจมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่ผิวหนังอาจลุกลามไปบริเวณอื่นของร่างกายและทำให้อวัยวะอื่น ๆ เกิดการอักเสบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นปอด กระดูก ข้อต่อ หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง

    หรืออาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการหนาว สั่น มีไข้สูง อ่อนเพลียอย่างมาก และหัวใจเต้นเร็ว ซึม จนไม่รู้สึกตัว หากไม่รีบรับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


การป้องกันการเกิดฝี


  • หลีกเลี่ยงการบีบหรือเกาผิวหนังบริเวณที่มีฝีหรือแผล

  • อาบน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเป็นประจำ

  • ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำ

  • หลีกเลี่ยงการเกาแผลหรือรอยขีดข่วนตามร่างกาย โดยให้ทำความสะอาดแผลและปิดแผลด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อจนกว่าจะหายเป็นปกติ

  • หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดสิ่งของดังกล่าวด้วยน้ำร้อนเป็นประจำ

  • รีบไปพบแพทย์หากพบว่าเป็นโรคผิวหนังหรือมีอาการเจ็บป่วยที่อาจก่อให้เกิดแผลตามร่างกาย








ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

สิว (Acne)

Comments


bottom of page