top of page
รูปภาพนักเขียนCake Premmika

โรคหอบหืด (Asthma)

อัปเดตเมื่อ 12 พ.ย.




       โรคหอบหืด (Asthma) คือ โรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายในและสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบจากภาวะหลอดลมหดเกร็งส่งผลให้หายใจไม่สะดวก มีเสียงหวีด ไอ 
แน่นหน้าอก และรู้สึกเหนื่อยหรือหอบ ในบางครั้งอาจมีอาการหอบรุนแรงจนทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคหอบหืดและโรคหืด เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?


โรคหอบหืดและโรคหืดคือโรคเดียวกัน บางครั้งเรียกหอบหืดในกรณีที่มีอาการหอบร่วมด้วย ส่วนในโรคหืดนั้นผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหอบ มีเพียงอาการไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเกิดจากการอักเสบในหลอดลมและมีหลอดลมตีบ แต่ไม่ถึงขั้นหอบ


ปัจจัยกระตุ้น


  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ และควันมลพิษ

  • มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

  • โรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้  โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอักเสบ

  • การออกกำลังกาย 

  • ความเครียด

  • การรับประทานยาบางตัว เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด แอสไพริน (Aspirin), ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs และยาลดความดันโลหิตกลุ่มบีตาบลอกเกอร์ (Beta-blocker)

  • กรรมพันธุ์ ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้


อาการบ่งชี้โรคหอบหืด


  • อาการไอ เฉพาะเวลาออกกำลังกาย อากาศเปลี่ยน หรือเฉพาะตอนกลางคืน

  • หายใจเสียงหวีด

  • หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หอบ

  • อาการเป็นมากตอนกลางคืน จนทำให้นอนไม่ได้ หรือตื่นเพราะเหนื่อยกลางดึก

  • อาการจะกำเริบ เมื่อสัมพันธ์ตัวกระตุ้นต่างๆ (Allergens)

  • เมื่อใช้ยาหรือพ่นยาขยายหลอดลมแล้วอาการดีขึ้น 

  • มักมีประวัติ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ


การวินิจฉัย


แพทย์จะวินิจฉัยโรคหอบหืดโดยซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอด

(Pulmonary function test) ซึ่งมีความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะหลอดลมตีบจากหอบหืด

และวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ในขณะที่ผลเอกซเรย์ปอดของผู้เป็นโรคหอบหืดมักจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ


การทดสอบสมรรถภาพปอด (Pulmonary function test)  มี 2 วิธี ดังนี้


  1. การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี Spirometry ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด รวมถึงประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด โดยแพทย์จะให้ยาขยายหลอดลมและให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่แล้วเป่าลมหายใจออกให้เร็วและแรงผ่านเครื่อง Spirometer เพื่อวัดค่าปริมาณอากาศที่ผู้ป่วยสามารถหายใจออกใน 1 วินาที เทียบกับค่าปริมาณของอากาศเมื่อหายใจออกทั้งหมด เมื่อนำผลมาพิจารณาประกอบกับอาการของผู้ป่วยก็จะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของโรคได้


  2. การตรวจ Peak Expiratory Flow (PEF) เป็นการตรวจสมรรถภาพปอดโดยใช้เครื่อง Peak Flow Meter โดยให้ผู้ป่วยสูดลมหายใจเข้าให้เต็มปอดแล้วเป่าออกให้แรงที่สุดเพื่อวัดค่าความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ หากค่าที่วัดได้ต่ำกว่าปกติอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากภาวะหลอดลมตีบ


การดูแลรักษา


การรักษา ประกอบด้วยยากิน ยาฉีด และยาสูดพ่น ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาเลือกยาตามความรุนแรงและความถี่ของโรค


  1. ยารับประทานจะออกฤทธิ์ในการรักษาช้ากว่ายาฉีดและยาสูดพ่น มีผลข้างเคียงต่ำ ประกอบด้วย

    ยาแก้แพ้ (Anti- histamines drug) , ยาสเตียรอยด์ (Corticosteriod drug), ยาขยายหลอดลม (Bronchidilator drug)

  2. ยาฉีดจะออกฤทธิ์รวดเร็ว แต่ต้องได้รับในระยะเวลาและปริมาณที่เหมาะสม

  3. ยาพ่นมีทั้งแบบบรรเทาอาการ และแบบควบคุมอาการกำเริบ


3.1 ยาพ่นบรรเทาอาการ เป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน สามารถพ่นได้ 3-5ครั้ง ห่างกันทุก 5 นาที หากอาการไม่ทุเลาลงให้รีบไปโรงพยาบาล


3.2 ยาพ่นควบคุมอาการ เป็นยาขยายหลอดลมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ออกฤทธิ์นาน

ช่วยการอักเสบของหลอดลม ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ แม้ไม่มีอาการ เพื่อความคุมการกำเริบซ้ำของโรค


ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหอบหืด


  • โรคหืดเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง กรดไหลย้อนเรื้อรัง และโพรงจมูกอักเสบเรื้อรังได้

  • ปอดอักเสบ (Pneumonia)

  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

  • ภาวะปอดแฟบ (Lung atelectasis)

  • ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute respiratory failure)


ข้อควรปฏิบัติ


  • เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นอาการ

  • การดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหม

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • การรักษาหรือควบคุมโรคอื่นที่เป็นสาเหตุส่งเสริม เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ

  • งดสูบบุหรี่

  • เมื่อมีอาการควรหยุดทำกิจกรรมนั้น ๆ และนั่งพัก 

  • พ่นยาขยายหลอดลมฉุกเฉินให้ถูกต้องตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

  • หากพ่นยาติดต่อกัน 3- 5 ครั้ง  แต่อาการไม่ทุเลาลงให้รีบไปโรงพยาบาล



พ.ญ. ทิพย์ทิวา นนทมา









ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

สิว (Acne)

COVID-19

Kommentare


bottom of page