ลมพิษ (Urticaria) คือ ผื่นคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย
โดยเฉพาะในวัยเด็ก ลักษณะลมพิษจะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ซึ่งผื่นสามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนในร่างกายคัน ไม่มีขุย กระจายตามตัวแขนขา หรือบริเวณใบหน้า โดยมากมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง
ผื่นจะค่อยๆจางหายไปจากตำแหน่งหนึ่ง แล้วเกิดผื่นขึ้นที่ใหม่ตำแหน่งอื่นๆตามมา
แต่บางรายนอกจากมีผื่นนูนแดงแล้วอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ซึ่งบ่งบอกว่ามีภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ลมพิษ มีกี่ประเภท
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้ระยะเวลา 6 สัปดาห์ของการเกิดผื่นเป็นเกณฑ์ ได้แก่
1. ลมพิษเฉียบพลัน (Acute urticaria) ผื่นลมพิษ เป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักพบในเด็กและคนไข้อายุน้อย มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อย การติดเชื้อ หรือไม่ทราบสาเหตุ
2. ลมพิษเรื้อรัง (Chronic urticaria) ผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งมีทั้งชนิดที่มีสาเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง ยา ระบบฮอร์โมน หรือเกิดจากปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความเย็น เหงื่อ และชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
สาเหตุของลมพิษ
อาหาร เช่น อาหารทะเล แมลงทอด สีผสมอาหาร สารกันบูด ของหมักดอง
การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
ยาบางชนิดที่ร่างกายเกิดการแพ้ เช่น ยาซัลฟา ยาแอสไพริน
การแพ้สารสัมผัส เช่น ขนสัตว์ ถุงมือยาง ไรฝุ่น พิษแมลง ละอองเกสร
การกระตุ้นทางกายภาพ เช่น ความร้อน ความเย็น แสงแดด เหงื่อ
โรคอื่นๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคภูมิแพ้ โรคไทรอยด์
อาการลมพิษ
ผื่นบวม นูน แดง มีขนาดไม่เท่ากันตั้งแต่ 0.5-10 ซม.
ขอบชัดเจน ไม่มีขุยหรืดสะเก็ด
กระจายตัวทั่วทั้งร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
มีอาการคันอย่างมาก ปวดแสบปวดร้อน
หายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
การวินิจฉัยโรค
จากการซักประวัติว่าสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ยา การถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยหรือไม่ และตรวจร่างกายเพื่อแยกลักษณะผื่นผิวหนัง
ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นการทดสอบภูมิแพ้ โดยการหยดน้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง และใช้เข็มสะกิดแล้วสังเกตอาการแพ้ การทดสอบสามารถทราบผลได้ภายใน 20 นาที โดยมีความเสี่ยงในการเกิดผื่นภูมิแพ้ทั่วร่างกายน้อยมาก
ตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Allergy Blood Test) เป็นการเจาะเลือดตรวจวัดปริมาณภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ (IgE) ที่ร่างกายจะผลิตออกมาเพื่อต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย โดยการตรวจสามารถทราบผลได้ภายใน 2-3 วัน
การรักษา
พยายามหาสาเหตุและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผสมวัตถุเจือปนอาหารบางชนิด เช่น สีผสมอาหารสารกันบูด สมุนไพร หรือ ยาอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
ควรหลีกเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้ลมพิษขึ้น เช่น ความเครียด อากาศร้อน
การอาบน้ำเย็น หรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการคัน งดแกะเกาผื่นคัน
รักษาและควบคุมโรคประจำตัว แม้จะพบได้น้อยแต่ผื่นลมพิษอาจเป็นอาการแสดงทางผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ เช่น โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น
ให้ยาต้านฮีสตามีน (Anti-histamine) มีในรูปแบบฉีด ยากิน และยาทาเฉพาะที่ ซึ่งประสิทธิผลและความเร็วในการออกฤทธิ์จะลดหลั่นตามลำดับ
** ยาต้านฮีสตามีนมีหลายชนิด การจะเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนตัวใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากการตอบสนองต่อตัวยาแต่ละตัวกับคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางตัวทำให้ง่วง บางคนอาจจะต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกัน
ยาอื่นๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน เช่น ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids ) เพื่อกดการตอบสนองของภูมิต้านทานที่ไวเกินของร่างกาย ลดอาการบวม อักเสบ และคัน มีทั้งรูปแบบฉีด กิน และทา
ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ
อาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังขั้นรุนแรง( Angioedema) จะมีอาการบวมที่ใบหน้า
และอาจก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หากนอกจากผื่นแล้วยังมีอาการมีอาการหายใจติดขัด แน่นหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน จะเป็นลม ชีพจรลดต่ำ หัวใจเต้นเร็วที่จำเป็นต้องรีบนำส่งแพทย์เพื่อฉีดยาแก้แพ้ อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ อีพิเพ็น (EpiPen) โดยเร็วที่สุด
การดูแลป้องกันลมพิษ
ควรนำยาต้านฮิสตามีนพกติดตัวไว้เสมอ ในกรณีเกิดอาการสามารถใช้ได้ทันที
ไม่หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษ
หากมีอาการไม่ควรแกะหรือเกาผิวหนังทำให้เกิดแผล ซึ่งนำไปสู่โรคผิวหนังอักเสบได้
รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการง่วงจากยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา
ในคนที่ผื่นเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง มีหน้าบวม ตาบวม ปากบวม ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
พ.ญ. ทิพย์ทิวา นนทมา
留言